สำหรับคนจัดสเปคคอมพิวเตอร์ หรือประกอบคอมพิวเตอร์แบบเลือกเอง (Custom PC) จะต้องเคยได้ยินศัพท์ทางคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่ง คือ การระบายความร้อนด้วยน้ำเป็นอย่างแน่แท้ ซึ่งหลายคนอาจจะกำลังอยากรู้ อยากลองเล่นคอมชุดน้ำเปิด หรือหาความรู้เกี่ยวกับการระบายความร้อนด้วยน้ำอยู่
วันนี้ทางเรา D-BUG Computer จึงได้โอกาสดีในการเขียนบทความ D-BUG พาลุย! คอมชุดน้ำเปิดดีอย่างไร ทำไมหลายคนถึงใฝ่ฝันที่จะอยากจัดมันนัก ซึ่งในตอนนี้ จะเป็นการพาไปรู้จักกับ ระบบระบายความร้อนในคอมพิวเตอร์กันก่อน ถ้าพร้อมแล้ว มาลุยกันเลย
รู้จักกับระบบระบายความร้อนในคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์ก็เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง ซึ่งมันก็มีความร้อนจากการใช้พลังงานไฟฟ้า และแน่นอน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ร้อนที่สุดคงหนีไม่พ้น CPU คอมพิวเตอร์ รองลงมาก็เป็น การ์ดจอ หรือ GPU คอมพิวเตอร์ ซึ่งเจ้าสองชิ้นนี้ เป็นอุปกรณ์ที่รับประทานไฟอย่างมากเป็นอันดับต้นๆ ในเครื่องคอมเลยทีเดียว ดังนั้น มันจึงมีค่าความร้อนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเราสามารถประมาณการค่าความร้อนได้ด้วยการเช็คอัตราตัวเลข TDP (Thermal Design Power) ซึ่งจะมีบอกในสเปคของ CPU หรือ GPU รุ่นนั้นๆ
เช่น Intel Core i7-12700K ที่มีค่า TDP อยู่ที่ 125W และสูงสุดได้ถึง 190W เลยทีเดียว (ตัวเลขนี้สามารถเช็คได้ที่หน้าเว็บไซต์ Intel ได้เลย) ยิ่งตัวเลขค่า TDP นี้สูงแค่ไหน นั่นหมายความว่า อุปกรณ์ตัวนี้ มีแนวโน้มที่เป็นอุปกรณ์ที่กินไฟและมีความร้อนสะสมสูงนั่นเอง (แต่ค่า TDP ไม่ใช่การกินไฟนะ อัตราการบริโภคไฟจะต้องวัดค่าด้วยเครื่องมือทางไฟฟ้า)
ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับอุปกรณ์ระบายความร้อนให้กับอุปกรณ์ชิ้นนี้ ที่มีค่า TDP สูงได้มากถึง 190W ซึ่งคอมชุดน้ำเปิดจึงเป็นทาง เลือกหนึ่งสำหรับเหล่านักแต่งคอมนั่นเอง
อุปกรณ์ระบายความร้อนคอมพิวเตอร์มีกี่แบบ
การระบายความร้อนคอมพิวเตอร์นั้นมีหลากหลายแบบมาก แต่ที่ยอดนิยมทั่วไปก็จะแบ่งเป็น การระบายความร้อนด้วยลม (Air Cooling) และการระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooling)
- การระบายความร้อนด้วยลม (Air Cooling)ใช้หลักการการระบายความร้อนด้วยการใช้พัดลมในการดูดอากาศโดยรอบและเป่าอัดเข้ากับ Heatsink ที่จะแนบติดกับ CPU โดยใช้ตัวกลางเป็น ซิลิโคน (Silicone) เพื่อช่วยระบายความร้อนให้กับ CPU ซึ่งสามารถเรียกรวมๆได้ว่า Heatsink CPU ที่ใช้กันโดยทั่วไปนั่นเอง
- การระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooling) การระบายความร้อนด้วยน้ำยังคงต้องใช้ลมช่วยระบายความร้อนอยู่ แต่จะแตกต่างตรงที่ จะไม่ได้ใช้ลมระบายความร้อนแบบตรงๆ ให้กับ CPU แต่จะใช้ น้ำอุณหภูมิห้อง พัดผ่าน Heatsink ที่จะแนบติดกับ CPU โดยใช้ ซิลิโคน (Silicone) เป็นตัวกลาง เช่นเดียวกัน จากนั้นน้ำที่มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะถูกพัดผ่านตัวกลางที่เรียกว่า หม้อน้ำ (Radiator) ที่ประกอบไปด้วยช่อง Fin ที่สามารถให้ลมพัดผ่านมา เพื่อเป่าน้ำให้เย็นลง และไหลวนเวียนไปยัง CPU วนซ้ำไปซ้ำมาเพื่อระบายความร้อนให้กับ CPU นั่นเอง
- การระบายความร้อนด้วยระบบน้ำเปิดระบบระบายความร้อนด้วยน้ำนั้นมีอุปกรณ์ที่ซับซ้อนค่อนข้างมาก ซึ่งการทำระบบระบายความร้อนด้วยน้ำนั้น จะต้องมีพื้นที่เพียงพอในการเดินระบบ และจะต้องมีการดูแลที่มากเป็นพิเศษ จึงต้องคอยถอด เปลี่ยนน้ำกลั่น เช็คการรั่วตลอดเวลา ซึ่งระบบระบายความร้อนด้วยน้ำทั่วไปนี้จึงจำเป็นต้องเป็นระบบเปิดที่สามารถเปิดเช็คดูได้ตลอดเวลา ทำให้เป็นที่มาของคำว่า คอมชุดน้ำเปิด นั่นเอง (ซึ่งจริงๆแล้วในมันก็คือ ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำแบบปกตินั่นแหละ)
- การระบายความร้อนด้วยระบบน้ำปิดเมื่อ CPU ร้อนขึ้น คนทั่วไปต้องการที่จะระบบระบายความร้อนด้วยน้ำมีจำนวนมากขึ้น ต้องการจัดคอมชุดน้ำเปิด แต่ไม่มีความรู้ในการดูแลรักษาระบบน้ำเปิดแบบปกติ แบรนด์ผลิตอุปกรณ์คอมหลายเจ้า จึงตัดสินใจปรับปรุงชุดน้ำให้เป็นชุดหนึ่งชุดเดียวกัน เพียงแค่ซื้อและนำไปติดตั้ง ก็สามารถพร้อมใช้งานได้ทันที แต่มีข้อแม้ว่า น้ำในระบบจะไม่สามารถถ่ายออกมาได้ด้วยตนเอง (มิเช่นนั้น ประกันจะขาดทันที) ทำให้เป็นที่มาของคำว่า ชุดน้ำระบบปิด หรือ คอมชุดน้ำปิด ที่ไม่สามารถปรับแต่งใดๆ ได้ นอกเหนือจากโรงงานกำหนดมา นั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างกับความรู้เรื่องการระบบระบายความร้อนในคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีทั้ง คอมชุดลม คอมชุดน้ำปิด คอมชุดน้ำเปิด กันเลยทีเดียว ใน EP ต่อไป จะเป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างคอมชุดน้ำปิด และคอมชุดน้ำเปิดแบบเน้นๆ ถ้าหากจะจัดคอมชุดน้ำ จะเล่นตัวไหนดี บอกเลยว่า ตาม D-BUG Computerไปอ่านกันต่อได้เลย>>จัดสเปคคอมชุดน้ำเปิด EP.2